6 มิวเซียมนอกกระแสที่เราอยากชวนคุณไปทำความรู้จัก

Published on April 26, 2018

ท่องเที่ยวกรุงฯ วิถีใหม่ ลองเปลี่ยนบรรยากาศไปเดินเล่นชมพิพิธภัณฑ์ ซึมซับกลิ่นของประวัติศาสตร์ในย่านเมืองเก่าแสนคลาสสิก ที่นอกจากจะได้ชมเรื่องราวที่น่าสนใจ ได้ภาพถ่ายมุมเก๋ ๆ แล้ว ยังได้ความรู้แถมไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย กับลิสต์มิวเซียมเหล่านี้ ที่คุณอาจไม่เคยรู้จักมาก่อน

1

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์

 

ผลงานประติมากรรมชิ้นสำคัญต่าง ๆ

เสียงเพลงคลาสสิกแว่วมาให้ได้ยินเป็นการต้อนรับเข้าสู่ห้องเก็บเรื่องราวของศาสตราจารย์ คอร์ราโด เฟโรจี หรือที่ภายหลังเปลี่ยนเป็น ศิลป์ พีระศรี ช่างปั้นคนสำคัญของกรมศิลป์ ผู้มีความรู้ทางด้านศิลปะตะวันตกเป็นอย่างดี และนำความรู้เหล่านี้มาวางรากฐานกลายเป็นศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย โดยได้รังสรรค์ผลงานสำคัญ อย่างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 
 

โต๊ะทำงานจำลอง

ภายในพิพิธภัณฑ์ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน คือส่วนจัดแสดงผลงานประติมากรรมชิ้นสำคัญ และส่วนของห้องเรียนที่เป็นที่สอนนักศึกษารุ่นแรก ๆ มีเครื่องใช้ส่วนตัวรวมถึงเสื้อผ้าและอุปกรณ์การสอนต่าง ๆ อีกด้วย ด้วยความสามารถเหล่านี้ ท่าจึงได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย”


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์
กรมศิลปากร ถนนหน้าพระธาตุ เขตพระนคร
เปิด วันจันทร์ - ศุกร์ (ปิดวันเสาร์ - อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 09.00 - 16.00 น.
ไม่มีค่าเข้าชม
โทร. 0-2223-6162
www.museumthailand.com/th/museum/Silp-Bhirasri-National-Museum

2

บำรุงชาติสาสนายาไทย

 

บ้านหมอหวาน

บำรุงชาติสาสนายาไทย หรือ “บ้านหมอหวาน” ที่ในตอนนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์เล็ก ๆ และที่สำหรับปรุงยาสมุนไพรแผนโบราณที่มีชื่อเสียงมายาวนานกว่า 4 ช่วงอายุคน ที่นี่เต็มไปด้วยวัตถุดิบโบราณหลากหลายแขนงที่ยังรอทำความรู้จักกับเหล่าคนรุ่นใหม่อยู่ บ้านหมอหวานซ่อนตัวอยู่ในอาคารทรงโคโลเนียลแสนคลาสสิกใกล้เสาชิงช้า ทำเลแสนคลาสสิกในย่านเมืองเก่า

 

ส่วนผสมโบราณแขนงต่าง ๆ

 

ด้านหน้าบ้านหมอหวาน

หากได้มีโอกาสมาเยือนนั้น สิ่งที่พลาดไม่ได้เลยคือต้องลองชิม “ยาหอม” สูตรโบราณของที่นี่ นอกจากนี้ยังมียาแผนโบราณอย่างยาดมน้ำ ยาดมหอม น้ำมันทาเส้น ที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของชาวไทยมาเนิ่นนานให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษาดังสโลแกนของที่นี่ว่า "มรดกทางภูมิปัญญา คือสิ่งที่คนในอดีตสร้างไว้ หน้าที่ของคนในปัจจุบันก็คือ ดูแล เพื่อจะส่งต่อให้คนในรุ่นอนาคตรักษาต่อไป” หากมาเยี่ยมชมเป็นคณะสามารถติดต่อขอรับชมการสาธิตทำยาได้


บำรุงชาติสาสนายาไทย
ถนนบำรุงเมือง - ซอยเทศา แขวงวัดราชบพิตร เขตพระนคร
เปิดทุกวัน เวลา 09.00 - 17.00 น.
ไม่มีค่าเข้าชม
โทร. 0-2221-8070
www.mowaan.com


3

ห้างขายยาเบอร์ลิน

 

แม้ชื่อ “ห้างขายยา” จะฟังดูไม่คุ้นหูสักเท่าไหร่สำหรับคนสมัยนี้ แต่ก็สามารถหอบเอาบรรยากาศเก่า ๆ แสนคลาสสิกกลับมาได้ ห้างขายยาเบอร์ลิน เป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่ยืนยันความเป็นอยู่ของผู้คนในอดีตเกี่ยวกับการรักษาแผนตะวันตกได้อย่างดี ที่นี่ถือเป็นคลินิกยุคบุกเบิกของย่านเจริญกรุง 

 

ในโถงแสดงเรื่องราวของหมอเบอร์ลิน

 

ห้องทำงานของคุณหมอที่ถูกจำลองเสมือนจริง

เมื่อหลบความวุ่นวายภายนอกผ่านประตูเข้ามาที่นี่ จะพบกับความเย็นสงบด้านใน โถงยาวที่อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวเต็มทั้งสองฝั่งผนังบอกเล่าความเป็นมาของคุณหมอชัย ไชยนุวัติ (ไช่ แซ่ตั้ง) หรือที่คนแถบนี้รู้จักกันในชื่อคุณหมอแป๊ะลิ้ม มีห้องตรวจคนไข้ที่ถูกจำลองตามแบบเดิมพร้อมอุปกรณ์ที่คุณหมอเป็นผู้ใช้จริง ๆ จัดแสดงไว้ให้ชม มีห้องจ่ายยา พร้อมทั้งยาสูตรต่าง ๆ พร้อมอุปกรณ์ที่คุณหมอคิดค้นขึ้น การเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยถูกอธิบายไว้ในวิดีโอด้านใน ด้านข้างยังเปิดเป็นร้านขายยาให้ผู้ที่สนใจได้แวะชม


ห้างขายยาเบอร์ลิน
อาคารเลขที่ 359 ถนนเจริญกรุง แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
เปิด วันอังคาร - อาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) เวลา 09.00 - 17.00 น.
มีค่าเข้าชมคนละ 40 บาท
โทร. 0-2225-4700
www.facebook.com/BerlinPharmaceuticalMuseumBangkok

4

ห้างทองตั้งโต๊ะกัง

 

แม่พิมพ์ต่าง ๆ ที่ถูกใช้ในอดีต

ห้างทองเก่าแก่อายุถึง 150 ปีนี้ตั้งอยู่ที่ซอยวานิช ถนนมังกร ในย่านสำเพ็ง ตัวตึกเป็นรูปแบบโคโลเนียลสวยงามคลาสสิก มีทั้งหมด 3 ชั้นในยุคแรก ก่อนจะได้พระราชทานทุนหลวงมาจึงปรับปรุงเป็น 6 ชั้น มีอายุกว่า 60 ปี เจ้าของผู้ริเริ่มคือนายโต๊ะกัง แซ่ตั้ง ช่างทำเงินที่มีฝีมือดีลี้ภัยสงครามมาจากประเทศจีนในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำงานเก็บสะสมเงินจนเปิดเป็นห้างทองเล็กๆ ขึ้นได้ จึงตั้งชื่อว่า “ตั้งโต๊ะกัง” ตามชื่อตัวเอง และที่นี่ถือเป็นห้างทองขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่อดีต

 

ด้านหน้าตึกตั้งโต๊ะกัง

 

ส่วนจัดแสดงที่ชั้นหก

ในปัจจุบันตัวตึกเปิดหน้าร้านที่ชั้น 1 ผลิตลายทองคำที่ชั้น 3 หากสนใจสามารถติดต่อขอรับชมการสาธิตได้ และส่วนของพิพิธภัณฑ์อยู่ที่ชั้นบนสุดคือชั้นที่ 6 ในห้องโถงใหญ่ที่มีกลิ่นอายของความเก่าแก่นั้นจัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในการแปรรูปทองคำในอดีตออกเป็นส่วนต่าง ๆ ทั้งเครื่องหลอม เครื่องทุบ เครื่องรีด และเครื่องดึงสำหรับทำลายทองเฉพาะของที่ร้าน รวมไปถึงภาชนะใส่น้ำกรดแช่ทองที่เป็นดินเผาและแม่พิมพ์ต่าง ๆ หากต้องการเข้าชมแนะนำให้ติดต่อล่วงหน้าก่อน เพื่อจะมีเจ้าหน้าทีคอยให้ข้อมูล


ห้างทองตั้งโต๊ะกัง
345 ซอยวาณิช 1 ถนนมังกร เขตสัมพันธ์วงศ์
เปิด วันจันทร์ - เสาร์ (ปิดวันอาทิตย์) เวลา 09.30 - 16.00 น.
ไม่มีค่าเข้าชม
โทร. 0-2224-2422
www.facebook.com/TTKGoldTrader


5

พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ห้องจัดแสดงหลักฐานทางชีวิวิทยา

ใครสนใจในเรื่องของชีววิทยา หรือชอบเรื่องสัตว์หายากนั้นต้องไม่พลาดไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เพราะที่นี่จัดแสดงตัวอย่างสิ่งมีชีวิตและทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ทั้งโครงกระดูกของคนและสัตว์ ปลาหลากหลายสายพันธุ์ นกหายาก เปลือกหอยหลายตระกูล ซากสตาฟสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่ถูกเก็บรักษาไว้ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ รวมไปถึงสัตว์ที่จัดแสดงมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 ก็สามารถหาดูได้ที่นี่เช่นกัน ตัวอาคารอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สงบร่มรื่นไปด้วยเงาต้นไม้ใหญ่ รอต้อนรับเหล่าคนรักธรรมชาติให้เข้ามาศึกษาและเดินชม


 

หลักฐานทางชีววิทยาต่าง ๆ ที่ถูกเก็บไว้อย่างสมบูรณ์

 

หลักฐานทางชีววิทยาต่าง ๆ ที่ถูกเก็บไว้อย่างสมบูรณ์

พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตึกชีววิทยา 1 ชั้น 2 ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เปิดทุกวัน (เว้นวันหยุดราชการ) เวลา 09.00 - 16.00 น.
ไม่มีค่าเข้าชม
โทร. 0-2218-5266
www.chula.ac.th/museum/757

6

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

วิวสวย ๆ ของสะพานพระรามแปด

อาคารสไตล์โพสโมเดิร์นที่ตั้งอยู่อย่างโดดเด่นริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้กับสะพานพระราม 8 นี้ แต่เดิมเป็นโรงพิมพ์ธนบัตรจนกระทั่งถึงยุคของสงครามโลกครั้งที่สอง ภายหลังจึงถูกรีโนเวทมาเป็นศูนย์การเรียนรู้สาธาราณะสำหรับคนรุ่นใหม่ แปลกตาด้วยตระแกรงเหล็กสีดำที่เปิดออกมาให้เห็นสะพานพระราม 8 ได้เต็มตา เข้ากันดีกับโครงสร้างหลังคาคอนกรีตด้านบน

 

ส่วนจัดแสดงเงินตรา

 

ส่วนของ Co-Working Space และร้านกาแฟที่มองเห็นวิวแม่น้ำได้เต็มตา

ด้านในแบ่งแยกส่วนต่างๆ ทั้งส่วนจัดแสดงของหายากอย่างเครื่องพิมพ์ธนบัตรรุ่นแรกที่ยังสมบูรณ์อยู่ มีนิทรรศการจัดแสดงเงินตราและธนบัตร ส่วนต่อมาคือส่วนของ Co-Working Space ที่มีห้องแบบส่วนตัวให้บริการ และยังมี Knowledge Bank ที่เก็บรวมรวมเอกสารและหนังสือสำคัญเกี่ยวกับการเงินให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษากันอีกด้วย หรือใครอยากชิลล์ก็สามารถเลือกนั่งเล่นที่คาเฟ่ จิบกาแฟชมวิวแม่น้ำสวย ๆ ได้


ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย
ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร
โซนพิพิธภัณฑ์เปิดให้บริการวันละ 2 รอบ ช่วงเช้า เวลา 10.30-11.30 น. และช่วงบ่าย เวลา 14.30-15.30 น.
โทร. 0-2283-5353
www.bot.or.th
www.facebook.com/bankofthailandofficial