Bank of Thailand Learning Center จากอดีตโรงพิมพ์เก่าสู่แหล่งเรียนรู้สุดคลาสสิกสำหรับคนยุคใหม่

Published on February 15, 2018

หากใครผ่านไปทางสะพานพระราม 8 ต้องสะดุดตากับสถาปัตยกรรมจากยุคโพสต์โมเดิร์นอย่าง ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือที่รู้จักกันในนาม Bank of Thailand Learning Center อดีตโรงพิมพ์ธนบัตรที่เป็นเขตหวงห้ามริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะและแหล่งเรียนรู้ ให้ผู้คนได้เข้าไปใช้สอยพื้นที่อย่างมีคุณค่าและสร้างแรงบันดาลใจทางด้านเศรษฐกิจการเงินและความรู้ 



All About 'BOT'

ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงค์ชาติ อาคารหลังเก่าที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินและจัดพิมพ์ธนบัตรให้กับประเทศไทยตั้งแต่ในยุคสมัยของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งต่อมาความต้องการใช้ธนบัตรมีมากขึ้น โรงพิมพ์จึงถูกย้ายไปสร้างใหม่ที่จังหวัดนครปฐม ทำให้พื้นที่แห่งนี้ถูกปิดตายมาอย่างเนิ่นนาน จนกระทั่งในวาระครบรอบ 75 ปีของการก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย อาคารที่เคยเป็นพื้นที่หวงห้ามซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณสะพานพระราม 8 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จึงได้รับการรีโนเวทใหม่ให้กลับมามีชีวิตชีวาในรูปแบบของพื้นที่สาธารณะเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบที่นับว่าเป็นพื้นที่ ๆ เป็นประโยชน์สำหรับคนทุกรุ่นอย่างแท้จริง 

 

โครงสร้างภายนอกอาคาร จะมองเห็นสถาปัตยกรรมแบบยุคโพสโมเดิร์น ที่มีลักษณะคอนกรีตหล่อซ้อนกันเป็นรูปไข่ และตะแกรงเหล็กฉีกที่ถูกรีโนเวทขึ้นมาใหม่

A Stunning Combination Between Classic and Modern

สถาปัตยกรรมของที่นี่โดดเด่นในรูปแบบของยุคโพสโมเดิร์น ออกแบบโครงสร้างความงามทางสถาปัตยกรรมและความมั่นคงโดยทีมวิศวกรและสถาปนิกชั้นนำแห่งยุคอย่าง ดร.รชฎ กาญจนวนิช และ ม.ล.สันธยา อิสระเสนา โครงสร้างหลังคาคอนกรีตมีลักษณะหล่อโค้งซ้อนกันหลายชั้น เพื่อช่วยดูดซับเสียงและรองรับน้ำหนักเครื่องจักรขนาดใหญ่ด้านใน ปัจจุบันอาคารถูกรีโนเวทให้ผสานความเก่าและใหม่เข้าด้วยกันโดยทีม Creative Crew  จะเห็นได้จากความคลาสสิกของร่องรอยกำแพงประตู และโมเสกเก่าที่นำเข้าจากต่างประเทศตั้งแต่ปี 2512 กับตะแกรงเหล็กฉีกที่ถูกสร้างใหม่ครอบลงมาเพื่อให้ทุกส่วนภายในของศูนย์เรียนรู้เชื่อมต่อกัน 


 

วิวจากตะแกรงเหล็กฉีกที่มองออกไปเจอกับสะพานพระรามแปดได้พอดี

 

เครื่องพิมพ์ธนบัตรรุ่นแรก ที่ยังสมบูรณ์ที่สุดในโลก

Open The World of The 'New BOT'

หากใครยังติดภาพว่าแบงค์ชาติมีภาพลักษณ์ที่ดูเป็นทางการและเข้าถึงยาก อยากให้ลองเปิดใจและก้าวเข้ามาเปิดโลกใหม่ในพื้นที่แห่งนี้ ที่ถูกรีโนเวทให้ทุกพื้นที่เต็มไปด้วยความผ่อนคลายและบรรยากาศแห่งความสร้างสรรค์ ภายในอาคารประกอบด้วยพื้นที่เพื่อตอบรับกับการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ ได้แก่ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ห้องประชุม และ Co-working Space หลายขนาด พร้อมทั้งมีคาเฟ่ให้นั่งจิบกาแฟชมวิวแม่น้ำเจ้าพระยาแบบชิลล์ ๆ 


 

ห้องกระจกสำหรับผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัว

 

พื้นที่สำหรับการเรียนรู้แลกเปลี่ยนภายในตัวอาคาร

Museum of Currency

โซนพิพิธภัณฑ์ถูกออกแบบโดยคำนึงถึง Universal Design รองรับคนทุกประเภท รวมถึงคนพิการ ให้สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทั้งคำอธิบายที่เป็นอักษรเบลล์และ Audio guide ผ่านแอพพลิเคชั่นของพิพิธภัณฑ์ พื้นที่ด้านในพิพิธภัณฑ์จัดนิทรรศการที่น่าสนใจอย่าง นิทรรศการโรงพิมพ์ธนบัตร บอกเล่าเรื่องราวการจัดตั้งโรงพิมพ์และจำลองบรรยากาศกระบวนการพิมพ์ที่มีความปราณีตในยุคนั้น รวมถึง นิทรรศการเงินตรา นิทรรศการที่พาไปย้อนรอยอารยธรรมทางการเงินที่ยาวนานของโลก และวิวัฒนาการของเงินตราของไทยได้อย่างทันสมัย เข้ากับคนรุ่นใหม่ ชมเหรียญกษาปณ์เหรียญแรกของโลกและธนบัตรที่พิมพ์ขึ้นในวาระต่างๆมากที่สุดในประเทศไทย

 

นิทรรศการจัดแสดงเงินตราและธนบัตร

 

มาถึง นิทรรศการบทบาทหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย นิทรรศการที่จัดขึ้นเพื่อให้รู้จักแบงค์ชาติในมุมมองใหม่ๆ และแนะนำบทบาทความรับผิดชอบในฐานะธนาคารกลางท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจไทยที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

 

ผนังลูกคลื่นด้านในห้องนิทรรศการบทบาทหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แรงบันดาลใจมาจากการนำ GDP และอัตราเงินเฟ้อของภาวะเศรษฐกิจในประเทศในแต่ละช่วงเวลามาออกแบบ

Another Learning Space

อีกโซนหนึ่งในพื้นที่แห่งการเรียนรู้ก็คือ ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย แหล่งรวบรวมหนังสือทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงเอกสารสำคัญทางการเงินที่หายากและทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และสุดท้าย ห้องประชุมและ Idea box Co-working Space พื้นที่หลายขนาดที่ออกแบบฟังก์ชันมาให้ทำงานร่วมกัน และรองรับทุกอุปกรณ์สำหรับคนรุ่นใหม่ โดยมีค่าบริการห้องประชุมเริ่มต้นที่ 200 บาท หากสมัครสมาชิกรายปีจะได้ส่วนลดและใช้บริการโซนอื่นเพิ่มอีกด้วย
 

Knowledge Bank ห้องเก็บรวบรวมเอกสารสำคัญหายากจากทั้งไทยเเละต่างประเทศ หนังสือส่วนใหญ่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเงินและเศรษฐกิจของประเทศไทย

 

บันไดวนขึ้นไปยังโซน Knowledge bank และโซนอื่น ๆ

 

พื้นที่ Co- working space ด้านในอาคาร

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ให้แสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการหมุนเวียนรวมถึงกิจกรรมที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ เชื่อว่าพื้นที่แห่งนี้จะกลายเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ และส่งต่อเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่เป็นประโยชน์และตอบโจทย์ความต้องการของคนทุกรุ่นได้เป็นอย่างดี 


Bank of Thailand Learning Center
233 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ
เปิดทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ เวลา 09.30 - 20.00 น.โซนพิพิธภัณฑ์ปิด 16.00 น. (เข้าชมฟรีเฉพาะ 6 เดือนเเรก)
www.bot.or.th
www.facebook.com/bankofthailandofficial