[Coffee Guide] How to Order Coffee Like a Pro - Part l

Published on June 26, 2018

สำหรับคนที่ชอบแวะไป Hopping กันตามคาเฟ่และร้านกาแฟเก๋ ๆ คงมีดริงก์กาแฟแก้วโปรดที่สั่งกันเป็นประจำ แต่หลายคนอาจจะไม่แน่ใจว่ากาแฟแต่ละตัวต่างกันอย่างไร ลองมาดูความแตกต่างของ 10 กาแฟยอดฮิตที่เราคัดมาให้ลองเปลี่ยนบรรยากาศด้วยดริงก์ใหม่ ๆ ให้เพิ่มเป็นอีกหนึ่งกาแฟแก้วโปรดได้แบบมือโปร

อัตราส่วนของปริมาณส่วนผสมในกาแฟแต่ละชนิด อิงจากหนังสือ Coffee Obsession เขียนโดย Anette Moldvaer และ The World Encyclopedia of Coffee เขียนโดย Mary Banks, Christine McFadden, Catherine Atkinson. 

รูปภาพประกอบเป็นการจำลองความแตกต่างของกาแฟแต่ละประเภทแบบคร่าว ๆ ซึ่งกาแฟแต่ละประเภทของแต่ละร้านอาจมีหน้าตาแตกต่างกันตามสูตรเฉพาะและเคล็ดลับได้



START WITH PURE COFFEE SHOT


 

Espresso

Espresso

ในกาแฟทุกชนิดที่เราคุ้นเคยกัน จะมีเบสเป็นน้ำกาแฟรสเข้มหรือที่เราเรียกกันคุ้นหูว่า "Espresso" อันเกิดจากการกดน้ำอุณหภูมิ 92-94 ºc ให้ไหลผ่านกาแฟจนได้ปริมาณประมาณ 25-50 ml. แล้วจึงนำไปใช้เป็นเบส ผสมกับส่วนผสมหลายชนิดจนแตกย่อยเป็นประเภทกาแฟอื่น ๆ อีกหลากหลาย ซึ่งการเปลี่ยนจากเมล็ดกาแฟธรรมดาให้กลายเป็นเอสเพรสโซนี้จะต้องผ่านกระบวนการการ Brew ที่มี "แรงดัน" เข้ามาช่วยเท่านั้น จึงจะได้กาแฟรสเข้มเป็นช็อตได้ นอกจาก Espresso ที่คุ้นเคยกัน หลายคนอาจไม่รู้ว่าแท้จริงแล้ว กาแฟแบบช็อตก็มีประเภทอื่นอย่าง Ristretto และ Lungo ด้วย ซึ่งแต่ละร้าน แต่ละเมือง แต่ละประเทศก็จะมีอัตราส่วนของกาแฟกับน้ำที่ต่างกันไป

Ristretto

หากจะเรียก Ristretto ว่าเป็นเอสเพรสโซชนิดหนึ่งก็คงไม่ผิด Ristretto เป็นตัวที่เข้มข้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับกาแฟทุกชนิด ซึ่งหากใช้ปริมาณกาแฟที่เทียบเท่ากับของ Espresso แล้ว Ristretto จะมีปริมาณน้ำน้อยกว่า (เกิดจากการกดให้น้ำไหลผ่านกาแฟด้วยความแรงเท่ากันแต่ในระยะเวลาที่สั้นกว่า) โดยรวมแล้วอยู่ที่ประมาณ 15-20 ml.

Lungo

Lungo เป็นตัวที่เข้มข้นน้อยลงมาจาก Ristretto และ Espresso กล่าวคือ หากปริมาณกาแฟเทียบเท่ากับของ Espresso แล้วนั้น Lungo จะมีปริมาณน้ำผสมอยู่มากกว่า มักมีปริมาณต่อแก้วประมาณ 50-90ml.

เรียงความเข้มข้นเรียงจากมากไปน้อย Ristretto > Espresso > Lungo ตามลำดับ


สำหรับใครที่อยากลองกาแฟเข้ม ๆ แบบสามตัวนี้ ก็สามารถบอกทางร้านกาแฟให้ทำขึ้นได้ทั้งนั้น เพียงแต่กาแฟแต่ละชนิด เมื่อผ่านการคั่วหรือผ่านกระบวนการผลิตที่ต่างกัน (แม้จะเป็นเมล็ดกาแฟสายพันธุ์เดียวกันก็ตาม) กระบวนการเหล่านั้นก็จะส่งผลให้มีคาแรกเตอร์ที่ต่างกัน เพราะฉะนั้นคาแรกเตอร์ของเมล็ดกาแฟของแต่ละร้าน อาจทำ Espresso ได้รสชาติที่ดี แต่อาจไม่เหมาะกับการทำ Ristretto หรือ Lungo ได้



POUR MORE WATER


Americano / Long Black

หากไล่ระดับความเข้มข้นของกาแฟที่ต่อจาก Lungo ลงมา ก็จะเป็น Americano หรือ Long Black ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละร้านก็จะมีคำจำกัดความที่มีต่อกรรมวิธีหรืออัตราส่วนน้ำและกาแฟของ Americano และ Long Black ที่ต่างกัน ทั้งใส่น้ำก่อนแล้วท็อปด้วยเอสเพรสโซทีหลัง หรือจะใส่เอสเพรสโซก่อนแล้วใส่น้ำร้อนเพิ่มตามลงไป ก็ได้เช่นกัน ซึ่งไม่มีตำราเล่มไหนระบุถึงอัตราส่วนที่ถูกต้องแบบชัดเจน แต่หากมองรวม ๆ แล้ว Americano หรือ Long Black นี้เกิดจากเอสเพรสโซผสมกับน้ำเปล่านั่นเอง

 

Americano / Long Black


THEN ADD SOME MILK


Latte / Flat White / Piccolo

กาแฟที่ใส่นมจะมีหลากหลายชื่อ แน่นอนว่ามีอัตราส่วนของนมและกาแฟที่ต่างกันไปตามแต่ละร้านเช่นเคย แต่มักใช้ชื่อของกาแฟใส่นมแต่ละประเภท เพื่อแบ่งลำดับปริมาณของนมในกาแฟแต่ละประเภทที่ขายในร้าน (มักมีประมาณเอสเพรสโซที่ใช้เป็นเบสเท่ากันทุกแก้ว)

 

Latte / Flat White / Piccolo

Piccolo

Piccolo เป็นภาษาอิตาเลียนแปลว่า เล็ก หรือ Mini ซึ่งเป็นชื่อของกาแฟที่มีส่วนผสมจากเอสเพรสโซและนมในปริมาณเล็กน้อย (ใช้นมน้อยที่สุดในบรรดากาแฟใส่นมทุกชนิดในร้าน) มักมีปริมาณประมาณ 90-120 ml.

 

Piccolo - Pacamara Coffee Roasters x Specialty Coffee Lab

Flat White

เป็นกาแฟใส่นมที่มีปริมาณนมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ Piccolo และไม่มีฟองนม ปริมาณทั้งหมดประมาณ 120 - 180 ml. ต่อแก้ว

 

Flat White - Blend Cafe

Latte

เป็นกาแฟใส่นมที่มีใส่นมเยอะที่สุดในบรรดากาแฟทุกประเภท ปริมาณต่อแก้วประมาณ 200 ml. หรือมากกว่า

 

Cafe Latte (150 บาท) - Red Diamond Cafe

Cappuccino

มีปริมาณกาแฟและนมอัตราส่วนเท่า ๆ กันกับ Flat White หรือน้อยกว่าเล็กน้อย แต่มีปริมาณของโฟมหรือฟองนมด้านบนของกาแฟมากกว่ากาแฟประเภทอื่น ๆ

 

Cappuccino

 

Hot Cappuccino - Kerk

Macchiato

คำว่า Macchiato เป็นภาษาอิตาเลียนที่แปลว่า "Stain" หรือรอยเปื้อน ซึ่งมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับที่มาของชื่อว่ามาจากนิสัยการดื่มกาแฟของคนอิตาเลียนที่ชอบดื่มกันแต่เอสเพรสโซ บาริสต้าจึงหยอดฟองนมลงไปเล็กน้อย  เพื่อจะมาร์กแต่ละแก้วให้แตกต่างกันว่าแก้วไหนใช้เมล็ดกาแฟอะไร ซึ่งฟองนมที่ใส่ลงไปช่วยเพิ่มรสหวานนิด ๆ เมื่อได้ลองดื่มกันแล้วติดใจกันจึงกลับมาสั่งซ้ำ Macchhiato จึงมีติดเมนูกันให้เห็นมาเรื่อย ๆ ซึ่งบางทีอาจเรียกว่า Caffè Macchiato หรือ Espresso Macchiato ก็ได้

 

Macchiato

 

Iced Caramel Macchiato - Bar Storia Del Cafe

ประเภทกาแฟแต่ละชนิดที่กล่าวมาข้างต้น เรียงลำดับจากความเข้มข้นของกาแฟ โดยเริ่มจาก Ristretto, Espresso, Macchiato, Lungo, Americano / Long Black, Piccolo, Flat White, Cappucino และ Latte ตามลำดับ


PLAY A TRICK WITH OTHER INGREDIENTS


Affogato

เป็นแก้วที่มักทานกันเหมือนเป็นของหวาน เพราะใช้กาแฟเอสเพรสโซใส่ไอศกรีมวานิลลารสหวาน ๆ ทานให้สดชื่น

 

Affogato

 

Affogato - Go Coffee & Ice-Cream

Mocha

เป็นกาแฟนมที่มีช็อกโกแลตเป็นส่วนประกอบ อาจใช้เป็นโกโก้ร้อน ช็อคโกแลตซอส หรือแม้แต่ช็อคโกแลตบาร์ก็แล้วแต่สูตรเฉพาะของแต่ละร้าน

 

Mocha

 

Caffe Mocha - Casa Lapin x Badmotel

Turkish Coffee

เป็นกาแฟที่มักชงด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่า Ibrik, Briki หรือ Cezve โดย Turkish Coffee ส่วนใหญ่จะมีรสหวานเล็กน้อยและใส่เครื่องเทศอย่างกระวาน จันทน์เทศ ชินนามอนเป็นต้น

 

Turkish Coffee

Espresso Romano

เป็นกาแฟเอสเพรสโซที่มีใส่เลมอน อาจใส่แค่เปลือกเลมอนชิ้นเล็ก ๆ หรือเลมอนฝานบาง ๆ หรืออาจใช้เลมอนถูกับขอบปากแก้วเพิ่มรสเฝื่อนนิด ๆ ของเอสเพรสโซได้รสชาติไปอีกแบบ

 

Espresso Romano

Espresso Con Panna

เป็นกาแฟเอสเพรสโซท็อปด้วยวิปครีมรสเข้มข้น อาจท็อปวิปครีมนี้บน Cappucino, Latte หรือ Mocha ก็ได้เช่นกัน

 

Espresso Con Panna - Porcupine